TIPS & TRICK
ออฟฟิศซินโดรม โรคใกล้ตัว น่ากลัวกว่าที่คิด!
ออฟฟิศซินโดรม
คุ้นๆ ชื่อนี้กันไหม ในยุคที่เราใช้เวลานั่งก้มหน้าเคาะคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน และทำทุกๆ วัน หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ จนอาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน นัยน์ตาและการมองเห็น ลองมาสังเกตตัวเองแบบง่ายๆ ว่าเรากำลังเป็น “ออฟฟิศซินโดรม” อยู่หรือไม่
1.อาการปวดตึงที่คอ บ่า หลังและไหล่
โดยเฉพาะคนที่ทำงานในออฟฟิศอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่า 6 ชั่วโมง ต่อวัน เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องนั่งท่าซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไป ส่งผลให้ร่างกายต้องแบกรับความตึงเครียด อาการปวดหลังจึงมาเยือน หากปล่อยไว้นานๆ โดยไม่ได้รับการบำบัดแก้ไข อาจทำให้อาการปวดตึงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นลามไปทั่วทั้งขา บางรายปวดร้าวไปที่เข่าและข้อเท้าก็มี ทั้งหมดนี้เป็นอาการล้าสะสมทำให้เกิดอาการปวดร้าวส่งผลให้เกิดอาการชาลงไปที่บริเวณเท้าและปลายนิ้วเท้าได้ ที่สำคัญคนที่นั่งทำงานนานๆ จนเกิดอาการเหน็บชาบ่อยๆ อย่าได้มองข้ามเด็ดขาด เพราะร่างกายเรากำลังประท้วง ควรลุกขึ้นมาเปลี่ยนท่าและเดินไปทำอย่างอื่นบ้าง เพราะการนั่งทำงานนานๆ ส่งผลต่อเส้นเลือดดำที่ถูกกดทับและทำให้เส้นเลือดไปไหลเวียนในร่างกายไม่ปกติ ถ้าเรามีอาการชาตามขา จนกล้ามเนื้อไร้เรี่ยวแรง อันตรายมากต้องรีบไปปรึกษาหมอและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตด่วนนะคะ
2.อาการยกแขนไม่ขึ้นและนิ้วล็อค
อาการนี้เกี่ยวเนื่องมาจากข้อแรก ซึ่งจะมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อตั้งแต่คอ บ่า จนถึงไหล่ และร้าวลงไปที่แขน จนเป็นเหตุให้ยกแขนไม่ขึ้น เนื่องจากว่ามีพังผืดมาเกาะที่บริเวณสะบักและหัวไหล่นั่นเอง และบางรายอาจมีอาการชาไปที่มือหรือนิ้วมือด้วยสำหรับใครที่จมอยู่กับการคลิกเม้าท์ และเกร็งมือใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างยาวนาน ไม่มีการเปลี่ยนอริยาบถ ทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมือ กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทจนเกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อค หรือข้อมือล็อคได้ใครที่มีอาการแบบนี้ควรบำบัดด้วยการไปให้แพทย์แผนไทยกดจุดเพื่อทำการสลายพังผืด หรือประคบร้อนเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนที่เป็นพังผืดแข็งตึงให้อ่อนตัวลงและคลายความปวดลง อาการก็จะดีขึ้น
3.อาการปวดศีรษะ
ในแต่ละวันคนทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่จะเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว จนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ คนส่วนใหญ่จะแก้ไขด้วยการกินยาแก้ปวด บางรายอาจกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งอาการปวดศีรษะก็จะหายไปชั่วคราว แต่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ดังนั้น หากคุณมีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คและหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร และรีบรักษาให้หายเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อความสุขในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้นอาการปวดหัวเรื้อรัง หรือ บางครั้งก็ปวดหัวไมเกรน เป็นเพราะเราเครียดจากการทำงาน และใช้สายตาจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน อาการปวดโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ กระดูกและข้อ เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ ซึ่งทำงานประสานกันอยู่
- อาการปวดที่เกิดจากกระดูกและข้อ เช่น ขยับแล้วมีเสียง กรอบแกรบ ขยับแล้วเจ็บเสียวแปลบๆ คอยื่นไปข้างหน้า หลังค่อม หลังทรุด กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังแอ่นงอ
- อาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาท เช่น กล้ามเนื้อไม่ค่อยมีแรง ชา กล้ามเนื้อกระตุก
- อาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อ เช่น ปวดเมื่อย อ่อนล้า เพลีย ตึง ยึด ปวดขึ้นไปที่ขมับ กล้ามเนื้ออักเสบ พังผืดสั่งสมบริเวณกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอ ร้าวขึ้นไปบริเวณขมับ ปวดไปที่กระบอกตา ซึ่งเข้าใจผิดว่าเป็นไมเกรนนั่นเพราะ เรานั่งจมกับกองงาน กองเอกสาร และคอมพิวเตอร์ วันๆ นึง ไม่ยอมลุกไปไหน นั่งแช่นานมากกว่า 8 ชั่วโมง ร่างกายจึงประท้วงด้วยอาการปวดตึงที่ต้นคอ ปวดบ่า ปวดไหล่อยู่บ่อยๆ จนอาการหนักถึงขั้นเป็นพังผืดบ่าติด หรือปวดคอหนักมากจนหันคอไม่ได้
แนวทางการรักษา แบ่งออกเป็น
- การรักษาที่สาเหตุของโรค คือ การผ่าตัด และการไม่ผ่าตัด
- การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การกินยา ฉีดยา ซึ่งคนไทยหลายคนคิดว่าเมื่อไม่มีอาการแล้ว แปลว่า “หาย” ในความเป็นจริงแล้ว การไม่มีอาการนั้น อาจจะไม่ได้หายจากอาการปวดอย่างถาวร
- การที่จะทำให้ “หาย” จากอาการปวดอย่างถาวรนั้น คือ การรักษาที่สาเหตุของปัญหา ให้สภาพของกระดูกและข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท คืนสู่สภาวะปกติ และดีกว่าปกติ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กลับมาเกิดอาการปวดอีก วิธีการรักษาดังกล่าวเรียกว่า Active Therapy เป็นการรักษาในเชิงป้องกันที่สาเหตุ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
เคล็ดลับการป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม
- 1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (Be Fit)
- 2. ระวังเรื่องของท่าทาง บุคลิกของตัวเอง อย่าไหล่ห่อ อย่านั่งหลังค่อม
- 3. วางแผนการเคลื่อนไหวบนโต๊ะทำงาน โดยการจัดโต๊ะทำงาน หรือพื้นที่ทำงานให้เหมาะสม ควรจัดวางของที่ต้องใช้ให้ใกล้ตัว ใกล้มือ จะได้ไม่ต้องเอี้ยวตัวอยู่บ่อยครั้ง และไม่ต้องก้มตัวขึ้นลง หันซ้ายหันขวา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเคล็ดได้
- 5. เมื่อเกิดอาการปวดเมื่อย อย่าฝืนร่างกาย ให้เดินไปดื่มน้ำ ไปเข้าห้องน้ำ 3-5 นาที ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว และเป็นการป้องกันปัญหาได้อีกด้วย
- 6. การระมัดระวังเรื่องความเครียด เพราะความเครียดทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี การรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยวิธีต่างๆ นั้นเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ เพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้ออักเสบหรือรักษาพังผืดในกล้ามเนื้อ วิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการจากออฟฟิศซินโดรมจำเป็นต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับอิริยาบถในการทำงานให้ถูกต้อง รวมถึงการเสริมสร้างสุขภาพกายและใจให้สมบูรณ์แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดอาการบาดเจ็บต่างๆ ที่จะมาบั่นทอนคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างถาวร
ข้อมูลจาก https: CIMBThai , https://www.shawpat.or.th , www.bumrungrad.com , https://women.sanook.com
Comments are closed