Cleaning, TIPS & TRICK
แหล่งสะสมเชื้อโรคที่คุณคาดไม่ถึง
แหล่งสะสมเชื้อโรคที่คุณคาดไม่ถึง!!
หากจะกล่าวถึงสิ่งของรอบตัวที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคมากที่สุดหลายคนคงนึกถึง ลูกบิดประตูและกลอนประตูห้องน้ำ ฝาชักโครกบ้างละ วันนี้ ELVIRA จะพามาดูสิ่งของใกล้ตัวที่เราหลายคนคาดไม่ถึงว่า จะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ด้วยเหรอ ถ้าอ่านจนจบอาจจะมีอาการอึ้งอยู่ไม่น้อย เฮ้ย!!เป็นไปได้เหรอ ไม่เชื่อลองมาดูของ 13 สิ่งของใช้ใกล้ตัวที่สกปรกที่สุดจนคนใช้อย่างเราคาดไม่ถึงกันค่ะ
1. โทรศัพท์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต
หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว มีการวิจัยพบว่าบนจอโทรศัพท์
สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตมีเชื้อโรคสะสมมากกว่าโถส้วมถึง 20 เท่า !
โดยเฉพาะเชื้อโรค E. coli และ Staphyloccocus aureus ซึ่งเป็นสาเหตุ
ของโรคผิวหนังต่าง ๆ โรคปอดอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด
เชื้อโรคเหล่านี้ถูกนำมาติดโดยการใช้นิ้วสัมผัสบนจอโทรศัพท์โดยไม่ได้ล้างก่อนซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รักษาสุขอนามัยถึงขนาดล้างมือบ่อย ๆ
และไม่ยอมทำความสะอาดหน้าจอบ่อย ๆ
ทำให้เชื้อโรคสะสมอยู่บนจอโทรศัพท์ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว ฉะนั้นเราควรทำความสะอาดหน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตด้วยน้ำยาทำความสะอาดจอทัชสกรีนโดยเฉพาะอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพราะเป็นการยั้บยั้งเชื้อโรคได้ดีที่สุด นอกจากนี้ไม่ควรใช้โทรศัพท์ร่วมกับใครเพื่อป้องกันเชื้อโรคติดต่ออีกด้วย
2. คีย์บอร์ด เม้าส์คอมพิวเตอร์
บางครั้งสิ่งที่เราละเลยที่จะทำความสะอาดอย่างคีย์บอร์ดและเม้าส์คอมพิวเตอร์เพียงเพราะคิดว่ามันไม่ได้สกปรกซักเท่าไหร่ นี่ล่ะ คือแหล่งสะสมเชื้อโรคตัวฉกาจเลย ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าปุ่มเล็ก ๆ บนคีย์บอร์ด หรือปุ่มบนเม้าส์เพียงเท่านั้นที่มีเชื้อโรคสกปรกสะสมอยู่ แต่บรรดาตามซอกเล็กๆ หรือร่องของคีย์บอร์ดก็เป็นแหล่งกักเก็บฝุ่นและเชื้คโรคที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ อันที่จริงการรักษาความสะอาดอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดคอมพิวเตอร์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และควรแกะคีย์บอร์ดออกมาทำความสะอาดด้วยอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดการสะสมของเจ้าเชื้อโรคตัวฉกาจได้แล้ว
3. รีโมท
เราหยิบจับรีโมทกันอยู่บ่อย ๆ แต่หารู้ไม่ว่ามันคือแหล่งสะสมเชื้อโรคเช่นกัน เพราะน้อยคนจะนึกถึงว่ารีโมทเป็นสิ่งที่ควรทำความสะอาดด้วยเช่นกัน ทำให้บรรดาเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มาจากสัมผัสโดยตรงกับมือของเราซึ่งยังไม่ผ่านการล้างทำความสะอาดตามสุขอนามัยที่ถูกต้อง สะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของรีโมท การทำความสะอาดรีโมทก็ไม่ยาก เพียงแค่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดบ่อย ๆ และควรล้างมือก่อนและหลังจับรีโมทเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
4. ผ้าเช็ดตัว
ผ้าเช็ดตัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน เพราะในผ้าเช็ดตัวนั้นมีเชื้อโรค Staphylococus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังซุกซ่อนอยู่ ลองคิดดูว่านอกจากเชื้อโรคแล้วยังมีเซลล์ผิวหนังเก่าที่ต้องมีการผลัดเซลล์ผิว เมื่ออาบน้ำแล้วใช้ผ้าเช็ดตัวเช็ดทุกๆวันหลังอาบน้ำจะเกิดการสะสมของเซลล์ผิวเก่าเราทับถมกันมากขนาดไหน ฟังแล้วน่าขนลุกขึ้นรึยังคะนอกจากนี้หากปล่อยให้ผ้าเช็ดตัวชื้นเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดเชื้อราอีกด้วยทางที่ดีเราควรเปลี่ยนผ้าเช็ดตัวอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี และควรนำผ้าเช็ดตัวไปตากในที่แห้งทุกครั้งหลังจากใช้ เพื่อให้ไม่เกิดเชื้อรา
5. แปรงสีฟัน
แปรงสีฟันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดเพราะเราต้องเอามันเข้าปากอยู่เช้าเย็น ดังนั้นต้องควรรักษาความสะอาดอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้ว่าเราจะทำความสะอาดอย่างไรแต่ผลวิจัยก็เคยพบว่า ในแปรงสีฟันก็ยังมีเชื้อจุลินทรีย์อย่างน้อย 10 ล้านตัว!!! ยิ่งถ้าวางอยู่ใกล้บริเวณชักโครกก็ยิ่งสกปรกขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีเชื้อโรคที่ติดมาจากน้ำลายและเสมหะของผู้ใช้อีกด้วย ดังนั้น นอกจากทำความสะอาดแปรงสีฟันให้สะอาดทุกครั้งที่ใช้แล้ว เราควรทำความสะอาดที่เก็บแปรงสีฟันให้สะอาดอยู่เสมอ และควรเปลี่ยนแปรงสีฟันอย่างน้อยทุก 3 เดือน เพื่อสุขอนามัยของช่องปากและสุขภาพของตัวเราเอง
6. สวิตช์ไฟ
สวิตช์ไฟเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่เราต้องใช้อยู่ทุกวันแต่ก็ละเลย จากการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า บนสวิตช์ไฟมีเชื้อแบคทีเรียถึง 217 ตัวต่อตารางนิ้ว โดยเฉพาะสวิตช์ไฟห้องน้ำนั้นมีเชื้อโรคอาศัยอยู่มากกว่าหลายเท่าตัว ทำให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคชั้นดีไปสู่บุคคลอื่นๆ จากการสัมผัสอีกด้วย เมื่อพูดถึงสวิตซ์ไฟก็ให้เลยไปนึกถึงปุ่มกดลิฟต์ที่หลายๆคนก็คงนึกไม่ถึงเช่นกัน โดยปกติลิฟต์จะมีในตึกอาคารสูงๆ เท่ากับเป็นแหล่งที่ผู้คนพลุกพล่านจะขึ้นลงทีก็ต้องใช้นิ้วเรากดทีไม่ต่างกับสวิตซ์ไฟ ดังนั้นหลังจากออกจากลิฟต์แนะนำให้ควรล้างมือทุกครั้งจะดีต่อสุขอนามัยมากกว่านะคะเพราะเราไม่รู้เลยว่า ปุ่มกดลิฟต์ที่เรากดๆ จิ้มๆ กันนั้นทางอาคารได้มีการเช็ดล้างฆ่าเชื้อกันมากน้อยแค่ไหน
รู้แบบนี้แล้ว อย่าละเลยทำความสะอาดสวิตช์ไฟเด็ดขาด เพียงใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะช่วยทำให้สวิตช์ไฟของเราสะอาดและปราศจากเชื้อโรคค่ะ
7. เงิน
“เงิน” ชื่อนี้น่าฟังยิ่งนัก ยิ่งเป็นเงินของเราแล้วยิ่งฟังดูไพเราะเพราะเสียนี่กระไร แต่ใครจะรู้ว่า เงินนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนบัตรหรือเหรียญต่างก็เต็มไปด้วยเชื้อโรคที่ส่งผ่านกันมามือต่อมือ ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อโรคที่ผู้คนละเลยมากที่สุด โดยผลการศึกษาจากคณะนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ระบุว่า บนธนบัตร 1 ใบ จะมีเชื้อแบคทีเรียสะสมโดยเฉลี่ย 26,000 ตัว ฟังแล้วน่าตกใจมิใช่น้อย ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้มีผลอันตรายกับผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำทั้งนี้ แม้เราจะไม่สามารถทำความสะอาดธนบัตรหรือเหรียญที่รับมาได้ แต่การรักษาความสะอาดที่ดีที่สุดคือการล้างมือทุกครั้งที่จับหรือสัมผัสกับเงิน เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคเหล่านั้นค่ะ
8. กระเป๋าสะพาย เป้ กระเป๋าสตางค์
เราใช้กระเป๋าชนิดต่าง ๆ ในการเก็บข้าวของ แต่หารู้ไม่ว่าภายในกระเป๋าคือแหล่งกักเก็บเชื้อโรคที่เราคาดไม่ถึงเชียวล่ะ มีการวิจัยพบว่าบริเวณก้นกระเป๋านั้นเต็มไปด้วยเชื้อโรคมากกว่าหมื่นตัว นอกจากนี้กระเป๋าสตางค์ก็เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่อันตรายไม่แพ้กัน ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้มาจากธนบัตรและเหรียญนั่นเอง เชื้อโรคส่วนใหญ่ที่พบล้วนเป็นอันตราย ได้แก่ Staphylococcus สาเหตุของทำให้เกิดตาแดง นอกจากนี้ยังมีเชื้อ Salmonella และ E.coli ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และท้องเสียอีกด้วย
วิธีการรักษาความสะอาดก็ไม่ยาก เพียงนำกระเป๋าไปตากแดด
เพื่อฆ่าเชื้อโรคและหมั่นทำความสะอาดกระเป๋าบ่อย ๆ
ด้วยทิชชู่เปียกที่มีสารเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยง
การนำกระเป๋าไปวางในที่ที่สกปรกด้วย
9. เครื่องปรับอากาศ
ใครว่าเครื่องปรับอากาศที่ใช้กันอยู่เป็นประจำนั้นไม่มีเชื้อโรค มันคือแหล่งกักเก็บและแพร่เชื้อโรคชั้นดีเลยต่างหากล่ะ เพราะเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศนั้นจะถูกดักเอาด้วยแผ่นกรองอากาศ แต่บางครั้งเราก็ลืมที่จะนำมันออกมาทำความสะอาดจนแผ่นกรองอากาศเหล่านั้นสกปรกทำให้เชื้อโรคเหล่านั้นแพร่กระจายออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภัยต่าง ๆ เช่น ภูมิแพ้ ผื่นผิวหนังอักเสบ หืดหอบ ปอดบวมจากเชื้อลีเจียนแนร์ วัณโรค สุกใส งูสวัด หัดเยอรมัน และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เอาละสิงานนี้ เวลาอากาศร้อนๆ จะวิ่งเข้าหาแอร์ฉ่ำๆ คงมีคิดกันบ้างละ หากจะให้ดีเราควรหมั่นทำความสะอาดภายในบริเวณเครื่องปรับอากาศอยู่เสมอเพียงเรานำแผ่นกรองอากาศออกมาทำความสะอาดเดือนละครั้ง และควรจะล้างแอร์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เท่านี้ก็อุ่นใจขึ้นมาบ้าง
10. หมอน – เตียงนอน
สองสิ่งนี้ใครจะคิดละ ในเมื่อก่อนจะเข้านอนก็อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายมาแล้วก่อนเข้านอนทุก ๆ คืนนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรก เพราะในทุกคืนที่เรานอนหลับนั้นผิวของเราก็จะผลัดเซลล์ที่ตายออก ซึ่งตกอยู่บนเตียงนอนและหมอน นอกจากนี้ยังมีบรรดาเศษสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มาจากกิจกรรมที่เราทำบนเตียงนอน ไม่ว่าจะเป็นการนอนโดยไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า การนำของมาวางไว้ หรือแม้แต่การนำอาหารขึ้นมากินบนเตียงนอน และเมื่อเรานอนในเวลากลางคืนก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เชื้อโรคเหล่านั้นจะเข้าสู่ร่างกายของเรา
อย่างไรก็ตาม แสงแดดและน้ำร้อนสามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่อยู่บนหมอนและเตียงนอนได้ เพียงนำปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนมาซักด้วยน้ำร้อนสัปดาห์ละครั้ง และหมั่นนำเอาหมอนและเตียงนอนมาตากแดดบ่อย ๆ เท่านี้ก็เป็นการกำจัดเชื้อโรคและเศษสิ่งสกปรกต่าง ๆ ได้ค่ะ
11. ฝักบัว
ฝักบัวเป็นแหล่งสะสมเชื้อราและแบคทีเรียที่เราละเลยทั้งที่ใช้อยู่ทุกวัน เพราะคงจะหาคนที่ทำความสะอาดฝักบัวทุกวัน หรือแม้แต่จะทำความสะอาดทุกสัปดาห์ก็ยังเป็นไปได้ยาก ซึ่งเชื้อโรคที่อยู่ในฝักบัวนั้นเป็นสาเหตุของโรคปอดอีกด้วยค่ะ
การทำความสะอาดฝักบัวในเบื้องต้นคือการนำน้ำส้มสายชูหรือแอมโมเนียเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และหมั่นถอดฝักบัวออกมาทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟันกับผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจาน หากเป็นฝักบัวที่ถอดออกไม่ได้ ก็นำถุงพลาสติกใส่น้ำส้มสายชูแล้วนำหัวฝักบัวแช่ในถุงข้ามคืนหลังจากนั้นค่อยทำความสะอาดอีกครั้งหนึ่งค่ะ
12. อ่างล้างจาน ฟองน้ำ
อ่างล้างจาน
เชื่อรึเปล่าคะว่า บริเวณอ่างล้างจานในบ้านเรา แต่ละตารางนิ้วนั้นมีเชื้อโรคอาศัยอยู่ถึง 500,000 ตัวทั้งชนิดที่รุนแรงและไม่รุนแรง อย่างเช่น “เชื้อซัลโมเนลล่า” ซึ่งเป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษหรืออุจจาระร่วง OMG!!! ตายแล้วน่ากลัวมากๆ หากนำไปใช้ล้างและขัดถูภาชนะต่าง ๆ คนเราก็มีสิทธิ์เอาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ วิธีทำความสะอาดขจัดคราบที่คู่ควรกับตัวเลขห้าแสนนี้ ก็คือ ใช้โซดาไฟหรือน้ำส้มสายชูราดทำความสะอาดมันซะ แล้วตามด้วยน้ำเปล่าตามไปอีกที หรือใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับล้างอ่างล้างจานที่มีสารกำจัดเชื้อแบคทีเรียล้าง อ่างล้างจานอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เท่านี้ก็ช่วยจัดการกับเชื้อโรคได้แล้วส่วนนึง
ฟองน้ำล้างจาน
ด้วยวัสดุและรูป ลักษณ์ของมันที่เต็มไปด้วยรูพรุนที่สามารถให้น้ำ อากาศ ออกซิเจน เศษอาหารเข้าไปอาศัยอยู่ จึงเป็นแหล่งชุมชนแออัดของเหล่าเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี แล้วคิดดูสิคะว่า ฟองน้ำที่เราใช้ล้างจานอยู่ที่บ้านทุกวันนั้นจะสกปรกแค่ไหน อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ เราสามารถทำความสะอาดฟองน้ำให้ปราศจากเชื้อโรคได้โดยวิธีง่ายๆ คือ เอาไปต้มหรือให้ความร้อนผ่านไมโครเวฟซัก 60 วินาที หรือนำฟองน้ำที่ใช้สำหรับล้างจานไปตามแดดอย่างน้อย 2 -3 ชั่วโมงเพื่อให้แสงแดดช่วยทำลายกรดและเชื้อแบคทีเรียในฟองน้ำแค่นี้ก็จัดการกับเชื้อโรคตัวร้ายได้แล้วล่ะ
13. ตู้เย็น
ใครจะคิดว่าที่ ที่เราใช้เก็บอาหาร กับข้าวที่เราไว้ทานอย่างตู้เย็นจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่างๆ ด้วย เพราะเชื้อโรคเป็นจำนวนเติบโตได้ดีในอากาศเย็น ทำให้เชื้อโรคที่ติดมากับภาชนะใส่อาหารหรืออาหารสดต่าง ๆ สามารถเติบโตและแพร่กระจายอยู่ในตู้เย็น โดยเฉพาะเจ้าแบคทีเรียที่ชื่อ ลิสเทอเรีย (Listeria) ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่น ปวดท้อง หรือปวดศีรษะได้ ดังนั้นเราจึงควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และควรเช็ดทำความสะอาดตู้เย็นด้วยน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อเดือนละครั้งอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเราจะเข้าใจว่ามีเพียงวิธีการเดียวที่จะเป็น สิ่งที่ป้องกันเชื้อโรคต่างๆ รอบตัวได้นั่นก็คือการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของตนเองรวมทั้งสิ่งของ สถานที่ต่างๆ ใกล้ตัวอยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะหลีกไกลจากการเจ็บป่วย เริ่มต้นง่าย ๆ เพียงแค่ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสกับสิ่งสกปรก เพียงแค่นั้นเราก็จะมีสุขภาพที่ดีได้
ข้อมูลจาก : www.kaijeaw.com, health.kapook.com, www.dek-d.com, www.manager.co.th,
Facebook : Elvirathai
Twitter : Elvirathai
Comments are closed